โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เป็นการดำเนินงานเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) ดำเนินงานตามนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพอีกทั้งรับผิดชอบในการจัดการศึกษาเพื่อให้เยาวชนทุกคน มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) ได้กล่าวถึงศาสตร์พระราชาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุม เรื่องเอกลักษณ์ของชนชาติไทย เช่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การเป็นสุภาพชนความขยันหมั่นเพียร การซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นคุณงามความดีของคนไทยที่บรรพชนไทยได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ศาสตร์พระราชาให้ข้อคิดการประพฤติปฏิบัติตนไว้ว่า อย่าคบคนด้วยฐานะ คบคนด้วยความดีมีมิตรภาพด้วยความรักความผูกพัน และขอให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดาผู้มีพระคุณ ประเทศชาติและพระมหากษัตริย์ ถ้าทุกคนปฏิบัติตนตามศาสตร์ของพระราชาแล้วก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ประเทศก็จะมีแต่คนดีและทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อมุ่งให้เกิดภูมิคุ้มกันและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเกิดความสมดุล และยั่งยืน แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานไว้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนชาวไทยนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข จึงนับได้ว่า“ศาสตร์พระราชา”เป็นเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่แผ่นดินไทย ซึ่งล้วนมุ่งให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตนเป็น “คนดี” ทั้งคิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมีความสามัคคีซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดไป

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชกระแสรับสั่งต่อประชาชนชาวไทยให้ “ช่วยสร้างคนดีให้บ้านเมือง” พร้อมทั้งพระราชทานหลัก 3 ประการที่เกี่ยวกับครูและนักเรียนไว้ว่า

“ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู”

“ให้ครูสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเองและให้เด็กที่เรียนเก่งช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า”

“ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

จากพระราชกระแสรับสั่งข้างต้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ด้านการศึกษาเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ดังนี้

1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง

2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม

3. มีงานทำ-มีอาชีพ

4. เป็นพลเมืองดี

เพื่อเป็นการสืบสานศาสตร์พระราชา และสนองพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจัดทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ขึ้น เพื่อมุ่งปลูกฝังให้ผู้บริหาร ครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ 1) พอเพียง 2) กตัญญู 3) ซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) อุดมการณ์คุณธรรม โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ให้แต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการคุณธรรม สพฐ. อย่างน้อยร้อยละ 35 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โรงเรียนทุกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการคุณธรรม สพฐ.

โรงเรียนบ้านหนองไฮใต้โดยการนำของ ผู้อำนวยการเฉลี่ยว ผิวเผื่อน ได้ตระหนักถึงความสำคัญว่าโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เป็นโครงการที่ดี ต้องทำทันที ต้องทำพร้อมกัน ต้องทำทั้งหมด โดยมอบหมายให้บุคลากรในโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนนโยบาย

โรงเรียนบ้านหนองไฮใต้ กำหนดเป้าหมายของโครงการโรงเรียนคุณธรรม
ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคนมีความตระหนัก รู้เข้าใจ และคิดอย่าง มีเหตุผล ซึมซับคุณค่าแห่งคุณธรรมความดีอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ภูมิใจในการทำความดี และร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนองค์กรแห่งคุณธรรม ด้วยการขอความร่วมมือจากหน่วยงาน และองค์กรที่ทำงานด้านคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ต่อเนื่อง และยั่งยืน